Slideshow

ADS468x60

.

วิกฤตปลากะพงในกระชัง

วิกฤตปลากะพงในกระชัง ปากน้ำบางปะกง
ลุ่มน้ำบางปะกง สายน้ำที่ก่อกำเนิดวิถีชีวิต ประเพณี และวัฒธรรม ที่สืบทอดกันมาอย่างยาวของผู้คนทั้งสองฟากฝั่ง แม่น้ำสายนี้ไหลผ่านหลายจังหวัดตั้งแต่ปราจีนบุรี นครนายก และไหลลงสู่อ่าวไทยที่ อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา รวมระยะทางราวๆ 230 กิโลเมตร ด้วยสภาพแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ของปากน้ำบางปะกง ทำให้มีสัตว์น้ำนานาชนิดทั้งน้อยใหญ่อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมี โลมา ทูต สันถวไมตรีแห่งทะเลไทยแวะเวียนเข้ามาในช่วงเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ของทุก ปี ซึ่งเป็นห้วงเวลาที่น้ำเค็มหนุนเข้ามาในน้ำจืดมากกว่าทุกฤดูกาล นับว่าเป็นเสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของลุ่มน้ำบางปะกงที่สามารถสร้างสีสรรและดึง ดูดนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี
“ประมง” ถือ เป็นอาชีพที่ผู้คนส่วนใหญ่ในละแวกนี้ยึดถือกันมาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะเป็นประมงบนฝั่ง มีทั้งการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เลี้ยงกุ้งและปลาในบ่อดิน ส่วนประมงชายฝั่งก็ไม่น้อยหน้าเช่นกัน มีการออกเรือหากุ้ง หอย ปู ปลา รวมทั้งการเลี้ยงปลาในกระชังอีกด้วย สำหรับปลาที่เลี้ยงกันส่วนใหญ่จะเป็นปลากะพงขาว เนื่องจากมีตลาดรับซื้อที่แน่นอนและได้ราคาดี
คุณปัญญา เรืองสวัสดิ์ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 2 ตำบลท่าสะอ้าน อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ชาวประมงอีกผู้หนึ่งที่ยึดอาชีพการเลี้ยงปลากะพงในกระชังสร้างรายได้เลี้ยง ครอบครัวมาเป็นเวลากว่า 7 ปี โดยก่อนหน้านั้นคุณปัญญาบ้านยึดอาชีพการเพาะพันธุ์ลูกกุ้งกุลาดำจำหน่าย และเลี้ยงกุ้งกุลาดำในบ่อดินควบคู่กันไปด้วย แต่ระยะหลังๆ ที่ผ่านมา อาชีพดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากมีฟาร์มเพาะพันธุ์ลูกกุ้งผุดขึ้นมากมายราวกับดอกเห็ด มีการแข่งขันด้านการตลาดสูงขึ้น ส่งผลให้ลูกกุ้งมีราคาตกต่ำ รวมทั้งราคากุ้งใหญ่ที่เลี้ยงไว้จำหน่ายก็ตกต่ำตามไปด้วย
ใน เมื่อมองไม่เห็นอนาคตจากการเพาะพันธุ์ลูกกุ้งและการเลี้ยงกุ้ง จึงหันมาเลี้ยงปลากะพงในกระชัง ซึ่งเห็นลูกบ้านในละแวกดังกล่าวเลี้ยงแล้วประสบผลสำเร็จ เพราะเป็นปลาที่มีราคาสูง มีตลาดรับซื้อที่แน่นอน และความต้องการของตลาดมีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง คุณปัญญาจึงหันหลังให้กับการเลี้ยงกุ้ง แล้วเริ่มเลี้ยงปลากะพงเมื่อปี 2547 อย่างเป็นล่ำเป็นสันราวๆ 20 กระชัง
คุณ ปัญญา กล่าวถึงขั้นตอนการเลี้ยงปลากะพงโดยละเอียดตั้งแต่เริ่มเตรียมกระชัง การดูแลรักษา ให้อาหาร จนกระทั่งจับปลาไปจำหน่ายให้กับทีมงานนิตยสารสัตว์น้ำฟังอย่างละเอียด ดังนี้
เริ่ม จากการสร้างกระชัง ผู้ใหญ่บ้านจะเลือกใช้ไม้ไผ่ปักลงไปในดินเลนให้เป็นเสาหลัก ซึ่งจะสร้างกระชังขนานไปกับชายฝั่งเพื่อเป็นการประหยัดเสาไม้ไผ่ หลังจากนั้นใช้ไม้ไผ่ขึ้นโครงเป็นรูปกระชัง ขนาดกว้าง 6 เมตร ยาว 6 เมตร และลึก 6 เมตร แล้วนำอวนมาเย็บเป็นกระชังตามขนาดที่กำหนดไว้ จากนั้นนำไม่เนื้อแข็งมาวางบนขอบกระชังเพื่อใช้เป็นทางเดินระหว่างกระชัง
“ไม้ไผ่ที่ใช้จะเป็นไผ่เลี้ยง เพราะเป็นไผ่ที่ลำใหญ่ แข็งแรง สามารถใช้งานได้นานประมาณ 2 ปี แต่เมื่อเลี้ยงปลาได้ 2 ปี หรือ 2 รุ่น ก็จะเปลี่ยนไม้ไผ่ใหม่และกระชังใหม่ เพราะเป็นการลดความเสี่ยงต่อการชำรุดเสียหายของกระชังและอาจจะทำให้ปลาที่ เลี้ยงหนีออกจากกระชังได้ ซึ่งการสร้างกระชังแต่ละครั้งจะใช้เงินหลายหมื่นบาท เนื่องจากผมใช้วัสดุที่แข็งแรง” คุณปัญญา กล่าวถึงการสร้างกระชัง
ส่วน พันธุ์ปลากะพงที่นำมาเลี้ยง จะซื้อมาจากฟาร์มเพาะลูกพันธุ์ปลาที่เพาะในบ่อดิน แถบๆ จังหวัดฉะเชิงเทรา สำหรับขนาดของลูกพันธุ์ที่นำมาปล่อยนั้นจะอยู่ที่ 3-4 นิ้ว แต่ละกระชังจะปล่อยลูกพันธุ์ปลาลงเลี้ยง ประมาณ 10,000 ตัว นอกจากนี้ คุณปัญญายังบอกถึงเทคนิคการปล่อยลูกพันธุ์ปลาว่า จะต้องปล่อยในช่วงเช้าหรือช่วงเย็นๆ แต่ถ้าหากปล่อยช่วงเที่ยงๆ อุณหภูมิของน้ำจะไม่คงที่ เมื่อปล่อยไปแล้วลูกพันธุ์ปลาอาจจะช็อกน้ำตายได้
อัตรา การรอดของปลาที่ปล่อยไปจะขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมด้วย ถ้าหากเป็นช่วงที่ปลาป่วย แหล่งน้ำไม่สะอาด อัตราการรอดก็จะอยู่ที่ประมาณ 50% ถือว่ารอดน้อย แต่ถ้าช่วงที่สภาพน้ำดี ไม่มีโรคระบาด อัตราการรอดก็จะอยู่ที่ประมาณ 70% ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะว่าการนำลูกพันธุ์ปลาจากบ่อดินมาเลี้ยงในกระชัง ระยะแรกลูกพันธุ์ปลาจะยังปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้ยาก แต่หลังจากที่ปลาเริ่มปรับสภาพได้แล้ว การสูญเสียก็จะค่อนข้างน้อย
หลัง จากที่ปล่อยลูกพันธุ์ปลาลงในกระชังแล้ว จะยังไม่ให้อาหารและไม่ไปรบกวนใดๆ ทั้งสิ้น จะปล่อยให้ปลาปรับตัวให้เข้ากับสภาพน้ำและสถานที่แห่งใหม่เสียก่อน ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 1 คืน จากนั้นก็เริ่มให้อาหารได้
อาหาร ที่ใช้เลี้ยงปลากะพง จะเป็นพวกปลาทู ปลาข้างเหลือง หรือปลาทะเลอื่นๆ (ปลาเป็ด) ซึ่งจะต้องเลือกปลาที่สด ถ้าหากเป็นปลาที่ไม่สดอาจจะเสี่ยงต่อการเกิดโรคได้ หลังจากที่ได้ปลาเป็ดมาแล้วก็จะนำเข้าเครื่องบดประมาณ 2-3 ครั้ง ให้เนื้อปลาค่อนข้างละเอียด เนื่องจากลูกปลายังตัวเล็กอยู่
เมื่อบดเนื้อปลาเป็ดเรียบร้อยแล้ว ก่อนที่จะนำไปให้ลูกปลากินจะต้องนำไปผสมกับยาฆ่าเชื้อจำพวกซัลฟา ในอัตราส่วนยาฆ่าเชื้อ 5 ช้อนโต๊ะ/น้ำ 1 ปิ๊ป ซึ่งจะต้องผสมในอาหารทุกครั้งก่อนที่จะให้อาหารปลา เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ปลาติดเชื้อ ทั้งนี้ อาหารที่บดในแต่ละครั้งจะต้องใช้ให้หมด ไม่เก็บไว้ค้างคืนโดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้เน่าเสียได้
คุณปัญญาจะให้วันละ 1 ครั้ง ในช่วงเย็น ราวๆ 3-4 โมงเย็น ซึ่งปริมาณที่ให้ในแต่ละช่วงอายุของปลาจะแตกต่างกัน ดังนี้ ในขณะที่ลูกปลามีอายุได้ประมาณ 1-2 เดือน จะให้อาหารวันละ 3-4 กิโลกรัม/กระชัง เมื่อปลากะพงมีอายุได้ 2-4 เดือน จะให้วันละ 60 กิโลกรัม/กระชัง สำหรับปลาที่มีช่วงอายุระหว่าง 5-6 เดือน จะให้อาหารวันละ 100 กิโลกรัม/กระชัง และปลาที่อายุระหว่าง 7-8 เดือน ให้อาหารวันละ 150 กิโลกรัม/กระชัง
ด้านระยะเวลาในการเลี้ยงปลากะพงจนกระทั่งสามารถนำไปจำหน่ายได้จะใช้เวลาประมาณ 8-12 เดือน ในช่วงนี้ปลากะพงจะมีน้ำหนักประมาณ 8 ขีดถึง 1 กิโลกรัม/ตัว โดยผู้เลี้ยงจะติดต่อกับผู้ค้าคนกลางให้มารับซื้อปลาที่กระชัง ซึ่งผู้ค้าคนกลางจะจับปลาเป็นๆ ใส่ในถังน้ำ แล้วเปิดออกซิเจนใส่ในถัง บรรทุกรถยนต์ส่งให้กับภัตตาคาร ร้านอาหาร ตลาดสดในกรุงเทพฯ ฉะเชิงเทรา และจังหวัดในละแวกใกล้เคียง ส่วนราคาจำหน่ายหน้ากระชังจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 140-150 บาท แล้วนำไปส่งให้กับร้านอาหารและภัตตาคารทั้งในจังหวัดฉะเชิงเทราและกรุงเทพฯ
“ปัจจุบันปลากะพงมีราคา 140-150 บาท/กิโลกรัม ก็ถือว่าเป็นราคาที่ค่อนข้างสูง ผู้เลี้ยงก็พึงพอใจ ส่วนราคาต่ำสุดที่จะอยู่ที่ 120 บาท/กิโลกรัม” คุณปัญญา ย้ำถึงราคาที่ได้จากการจำหน่ายปลากะพง
สำหรับ ต้นทุนในการเลี้ยงปลากะพงก็ถือว่าสูงไม่น้อยเลยทีเดียว แบ่งออกเป็นค่าสร้างกระชังก็ร่วมหมื่นบาท เพราะใช้วัสดุที่ค่อนข้างแข็งแรง โดยที่คุณปัญญาเลือกใช้ไม่ไผ่ขนาดใหญ่ ลำละ 250 บาทเลยทีเดียว ซึ่งราคาจะแตกต่างกันบ้างในแต่ละพื้นที่ ค่าลูกพันธุ์ปลาขนาด 3-4 นิ้ว ราคาจะอยู่ที่ตัวละ 3-4 บาท ส่วนค่าอาหารที่ให้ในแต่ละวันอยู่ที่ 8,400 บาท วัตถุดิบที่ใช้เป็นปลาป่นราคากิโลกรัมละ 14 บาท โดยเฉลี่ยแล้วในแต่ละวันจะ
ให้อาหารปลา 600 กิโลกรัม/วัน เฉพาะค่าอาหารในแต่ละเดือนก็ราวๆ 252,000 บาท
หลังจากที่จำหน่ายปลาไปแล้วจะได้กำไรประมาณ 20-35% ของราคาจำหน่าย ทั้งนี้ กำไรที่ได้จะขึ้นอยู่กับอัตรารอดของปลา โรคระบาดในแต่ละช่วง การดูแลรักษาของผู้เลี้ยงเอง รวมไปถึงราคาตามท้องตลาดที่อาจจะมีการผันผวนขึ้นลงบ้าง
“ต้นทุนในการเลี้ยงปลากะพงจนกระทั่งจับไปขายได้ และได้ปลาขนาดตามที่ตลาดต้องการ ในแต่ละครั้งจะต้องลงทุนไม่ต่ำกว่า 2 ล้านบาท ถ้าหากลงทุนต่ำกว่า 2 ล้านบาท ปลาก็ยังไซซ์เล็กอยู่ขายไม่ได้ราคา” คุณปัญญา ย้ำถึงการลงทุนในการเลี้ยงปลากะพง
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่เลี้ยงปลากะพงมานานกว่า 7 ปี คุณปัญญายอมรับว่า ปัจจุบันกำไรที่ได้จากการเลี้ยงปลากะพงเริ่มลดลงเรื่อยๆ เนื่องจากปลาเป็ดที่ใช้เป็นอาหารมีราคาแพงขึ้น จากเมื่อก่อนกิโลกรัมละ 7 บาท แต่เดี๋ยวนี้สูงถึง 14 บาท เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว แต่ราคาจำหน่ายปลากะพงยังทรงตัวหรือปรับขึ้นก็ไม่มากนัก
นอก จากนี้ ยังมีอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อการเลี้ยงปลากะพงของชาวประมงในละแวก ใกล้เคียง เมื่อความเจริญย่างกรายเข้ามาเยือน มีโรงไฟฟ้า นิคมอุตสาหกรรม และโรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้ย่อมส่งผลต่อระบบนิเวศน์และสิ่งแวดล้อมรอบๆ ลุ่มน้ำบางปะกง เมื่อสภาพน้ำเปลี่ยนแปลงไปก็กระทบถึงการเลี้ยงปลาในกระชังของชาวประมงใน พื้นที่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ปัญหาดังกล่าวทำให้ปลากะพงที่เลี้ยงในกะชังเกิดโรคและตายในที่สุด จากเดิมตั้งแต่เริ่มเลี้ยงปลากะพง คุณปัญญาเลี้ยงปลาทั้งหมด 20 กระชัง แต่ผลพวงจากปัญหาดังกล่าว ทำให้ต้องลดปริมาณการเลี้ยงลงเหลือเพียง 6 กระชังเท่านั้น
คุณ ปัญญา กล่าวอีกว่า เมื่อปีที่แล้วเรื่อยมาจนถึงปีนี้ ปลาในกระชังตายมากขึ้น ลักษณะตัวปลาจะเป็นแผล เหมือนกับว่าปลาป่วย พอเลี้ยงไป 7-8 เดือน ใกล้จะได้ขายก็ตายก่อน หลังจากนั้นได้นำน้ำไปตรวจ พบว่าปริมาณอ๊อกซิเจนในน้ำมีน้อย จึงสัญนิฐานว่าอาจจะเป็นเพราะโรงไฟฟ้าสูบน้ำขึ้นไปหล่อเย็นแล้วปล่อยลงมา และน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมบริเวณใกล้เคียง
“ชาว บ้านคนอื่นๆ ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน แต่เขาก็ยังเลี้ยงต่อ เพราะไม่รู้ว่าจะไปทำอาชีพอะไร แต่ผมคิดว่าจะเลิกเลี้ยงแล้ว เพราะปลามันตายเยอะ ในเมื่อไปไม่รอดแล้วเราจะฝืนไปทำไม แต่ถ้าหากว่าสิ่งแวดล้อมและสภาพน้ำในบริเวณที่เลี้ยงเอื้ออำนวยต่อการลงทุน การเลี้ยงปลากะพงก็อาจจะเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่สามารถสร้างรายได้เป็นอย่างดี เมื่อ 4-5 ปีที่ผ่านมา ตนเองก็มีกำไรจากการเลี้ยงปลากะพงมามากพอสมควร แต่ช่วงเวลานั้นสภาพแวดล้อมยังดีอยู่” คุณปัญญา กล่าวทิ้งท้าย
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณปัญญา เรืองสวัสดิ์ โทร.08-